top of page

ข้อมูลทั่วไป

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามตุ่ม

 

 

ประวัติความเป็นมาตำบลสามตุ่ม

              จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลสามตุ่ม เล่าว่า ตำบลสามตุ่มตั้งชื่อมาจากวัดสามตุ่ม เดิมที       วัดสามตุ่มมีชื่อ วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม ในสมัยนั้นจะเดินทางไปตลาดบ้านแพน หรืออำเภอเสนาต้องเดินเท้าไปตามทุ่งเป็นระยะทาง ประมาณ ๑๓-๑๘ กม. ผู้คนจะเดินทางผ่านทางด้านหลังวัด (ซึ่งสมัยก่อนด้านหน้าวัดจะอยู่ริมน้ำ) และในขณะนั้นวัดได้ทำการสร้างเรือสำเภาเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ซึ่งขาด แคลนน้ำดื่มน้ำใช้มาก เมื่อหลวงพ่อสุก ท่านมาจำวัดที่วัดสามตุ่มและเห็นมีคนสัญจรไปมา และมักจะมานั่งพักอยู่บริเวณหลังวัดเป็นประจำ ท่านจึงหาตุ่มน้ำมาตั้งไว้และสมัยก่อนจะมีถังข้าวสาร ปลาเค็มจัดเตรียมตั้งไว้ข้างๆตุ่มใส่น้ำ ๓ ใบเพื่อให้ผู้เดินทางได้พักรับประทานก่อนเดินทางต่อไป เมื่อมีผู้เดินทางมาพัก    ต่างก็พูดกันต่อๆไปว่า”เดินทางผ่านวัดมีตุ่ม๓ใบ   จึงเรียกติดปากกันว่า“วัดสามตุ่ม” และเริ่มจัดตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้นในสมัยนั้น ซึ่งในสมัยนั้นบ้านกำนันอยู่ในเขตวัดสามตุ่ม จึงตั้งชื่อว่า         ตำบลสามตุ่ม

               เมื่อก่อนการคมนาคมลำบาก มีคลองขนมจีนตื้นเขินถึงขนาดคนเดินข้ามได้ในฤดูแล้ง ซึ่งมีเพียงพาหนะ คือเรือหางยาว วิ่งวันละ ๑ เที่ยว จนปี พ.ศ.๒๕๑๖ มีการขุดลอกคลอง  และปี พ.ศ.๒๕๑๘  มีการสร้างถนนดินเกิดขึ้น โดยทำเป็นคันกั้นน้ำ  ต่อมามีการเทลูกรังและถนนลาดยางเป็นลำดับ  เริ่มมีไฟฟ้าใช้ ปี พ.ศ.๒๕๒๕  และมีน้ำประปาใช้ (น้ำบาดาล) ปี พ.ศ.๒๕๓๗ ใช้ในหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนได้ใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ         ติดต่อหมู่  ๑๐  ตำบลบางนมโค   อ.เสนา   จ. พระนครศรีอยุธยา

ทิศใต้             ติดต่อหมู่   ๒  และหมู่  ๖  ตำบลคู้สลอด   อ. ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

ทิศตะวันออก  ติดต่อหมู่   ๔   ตำบลช่างเหล็ก  อ.บางไทร  จ. พระนครศรีอยุธยา

ทิศตะวันตก    ติดต่อหมู่   ๖   ตำบลมารวิชัย   อ.เสนา     จ. พระนครศรีอยุธยา

 

ลักษณะภูมิประเทศ

             เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมถึง  มีคลองขนมจีนไหลผ่าน  จากหมู่ ๑ ถึงหมู่  ๘ 

การคมนาคม          

   การคมนาคมติดต่อสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ มีถนนเข้าถึงหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน   ประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์โดยสารสองแถว  รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว  เป็นพาหนะในการคมนาคม

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม

       

            ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ที่สร้างครอบครัวมาตั้งแต่ดั้งเดิม  จากการทำนา  และรับจ้างทั่วไป  เดิมชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่ตลอดทั้งปี  ทำให้เกิดความสามัคคีในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา  และประเพณีต่างๆ  หลังจากปีพ.ศ.๒๕๔๒ เริ่มมีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม  ในตำบลสามตุ่ม  ทำให้การดำเนินชีวิตของประชากรเปลี่ยนไป  คนวัยหนุ่มสาวเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด  ทำให้มีผลกระทบต่อสังคมในหมู่บ้าน คือ

            ๑. การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีลดน้อยลงเหลือแต่ผู้สูงอายุ เช่น  ทำบุญตักบาตร  การอยู่ถือศีลในวันเข้าพรรษา  พิธีกวนข้าวทิพย์  หรือวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ

            ๒. การเลี้ยงดูเด็กต้องเป็นหน้าที่ของ  ปู่ ย่า ตา ยาย  หรือต้องจ้างเลี้ยง

            ๓. ฐานะทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านดีขึ้นกว่าเดิม  สังเกตได้จาก  การปลูกสร้างบ้านเรือน หลังใหญ่ขึ้น  มีความมั่นคงขึ้น  มีเครื่องใช้ไฟฟ้า  รถจักรยานยนต์  รถยนต์

            ๔. วัฒนธรรมของสังคมเมือง  แพร่กระจายเข้าสู่เด็กวัยรุ่น เนื่องจาก พ่อแม่มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม  พฤติกรรม ของเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหา  ในเรื่องยาเสพติด  เกิดการตั้งครรภ์ขณะกำลังศึกษา  การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์  และการตั้งครรภ์ขณะอายุยังน้อยและไม่พร้อม

 

การศึกษา

ประชาชนส่วนใหญ่จบการศึกษา ระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น

มีโรงเรียน ๓ โรงเรียน   

มัธยมศึกษา                ๑  แห่ง        คือโรงเรียนสาคลีวิทยา     ตั้งอยู่   หมู่ ๑   ต.สามตุ่ม

โรงเรียนขยายโอกาส   ๑  แห่ง        คือ โรงเรียนวัดคู้สลอด     ตั้งอยู่   หมู่ ๘   ต.สามตุ่ม  

โรงเรียนประถมศึกษา   ๑  แห่ง        คือ  โรงเรียนวัดสามตุ่ม    ตั้งอยู่   หมู่ ๔   ต.สามตุ่ม

ศาสนา

          ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  มีวัด ๒ แห่ง  

๑.วัดโคกจุฬา   หมู่ ๒    ต.สามตุ่ม

๒.วัดสามตุ่ม    หมู่ ๔    ต.สามตุ่ม   

ประชากร

ชาย   ๒,๔๙๕  คน

หญิง  ๒,๗๑๔  คน

รวม   ๕,๒๐๙   คน

หลังคาเรือน  ๑๑๖๖  หลังคาเรือน

 

bottom of page